|
ในธรรมชาตินั้นปลาทะเลสวยงามส่วนมากมักจะอาศัยอยู่ในบริเวณแนวปะการัง
ซึ่งเป็นบริเวณ
ที่อุดมสมบูรณ์ ใช้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหาร ซึ่งแนวปะการังเหล่านี้จะมีการสร้าง
โครงสร้างหินปูน และีสิ่งมีชีวิตเข้ามาอาศัยอยู่
แนวปะการังนั้นจัดเป็นระบบนิเวศน์ที่มีความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก
ซึ่งปกคลุมพื้นที่ชายฝั่งของโลกถึง 15% สำหรับในประเทศไทยนั้นอาจแบ่งแนวปะการังชายฝั่ง
ได้เป็น 2 แบบ ได้แก่ กลุ่มปะการัง (Coral community) ซึ่งเ้ป็นบริเวณที่ปะการังอาศัยอยู่
ตามพื้นแข็งและไม่มีการสะสมตัวของหินปูนจนเกิดเป็นแนว และ แนวปะการัง (Coral
reef)
ซึ่งเป็นบริเวณที่มีการสะสมของโครงร่างหินปูนหรือก้อนปะการังหลายร้อยหลายพันปีจนเกิด
เป็นแนวปะการังในที่สุด ซึ่งสำหรับแนวปะการังนั้นอาจพบได้ตามบริเวณที่ต่อเนื่องไปกับ
ชายหาดหรือไม่ก็ได้ และอาจพบได้ตามกองหินที่อยู่กลางทะเลและมีปะการังมาเกาะ
นอกจากนี้เราอาจพบปะการังอ่อนและกัลปังหาซึ่งไม่มีการสร้างโครงร่างหินปูนขึ้นมาแต่มี
การสร้างแกนภายในหรือแท่งขนาดเล็กเพื่อคงรูปร่างเท่านั้น
สื่งแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการแพร่พันธุ์ของ
แนวปะการังนั้นเป็นสิ่งที่เราสามารถศึกษาเพื่อ
นำมาประยุกค์ให้เข้ากันกับตู้ทะเลของเรา
เพื่อให้ตู้ทะเลเรามีสภาพแวดล้อมที่คล้ายกับแนว
ปะการังมากที่สุด ถึงแม้ว่าจะไม่มีทางเหมือนกัน
ได้ 100% ก็ตาม เพื่อเป็นการลดความเครียด
ของสิ่งมีชีวิตในตู้และเพิ่มสมดุลของตู้เราให้คล้าย
ระบบนิเวศน์จริงๆอีกด้วย ซึ่งปัจจัยในการ
ดำรงอยู่ของแนวปะการังทางสิ่งแวดล้อมได้แก่...
- อุณหภูมิ ที่เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโตของปะการังอยู่ในช่วง
18-28 องศาเซลเซียส
ซึ่งถือเป็นช่วงอุณหภูมิสำหรับน่านน้ำทะเลในเขตร้อน ดังนั้นเราจึงพบแนวปะการังมากใน
ทะเลเขตร้อนเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งพบได้ตั้งแต่ตอนใต้ของญี่ปุ่นจนถึงตอนใต้ของทวีปออสเตรเลีย
ซึ่งประเทศไทยนั้นถือว่าอยู่ในเขตที่เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโตของปะการังด้วย
- แสง ปะการังถึงแม้ว่าจะเป็นสัตว์
แต่ในเนื้อเยื่อของปะการังประกอบไปด้วยสาหร่ายเซลล์เดียว
Zooxanthellae ซึ่งจำเป็นต้องใช้แสงจัดในการสังเคราะห์แสง เราจึงพบแนวปะการังใน
ธรรมชาติอยู่ในทะเลตื้นๆ หรือตามชายฝั่งที่มีความลึกไม่เกิน 10-20
เมตร และอาจลึกได้ถึง
40-50 เมตร ซึ่งบริเวณที่มีแสงน้อย บริเวณน้ำขุ่นหรือลึกเกินไป ก็จะไม่พบแนวปะการัง
นอกจากจะเป็นกลุ่มปะการังอ่่อน หรือ ปะการังจำพวกที่ไม่สังเคราะห์แสง
- ความเค็ม เราจะไม่พบปะการังในช่วงความเค็มต่ำๆเช่น
บริเวณปากแม่น้ำ แต่ก็อาจจะพบได้
บ้าง ซึ่งก็จะมีความหลากหลายทางชีวภาพต่ำ ซึ่งความเค็มทั่วไปที่เหมาะสมคือช่วง
30-36 ส่วนพันส่วน สามารถปรับขึ้น - ลงได้ตามสภาวะต่างๆกันไป
- ตะกอน เป็นผลเสียอย่างมากต่อปะการัง
เพราะนอกจากจะทำให้น้ำขุ่นและแสงส่องลงไปได้
น้อยแล้ว เศษตะกอนยังทับถมลงบนปะการัง ซึ่งต้องใช้พลังงานมากในการกำจัดตะกอน
ออกไป นอกจากนี้ยังมีผลทำให้ปะการังขาดอาหารและอ๊อกซิเจน อาจอ่อนแอได้และ
ตายในที่สุด เช่นแนวปะการังที่อ่าวบางเทา จ.ภูเก็ต ได้รับผลกระทบจากตะกอนเหมืองแร่
จนตายเกือบหมด
- คลื่นและกระแสน้ำ ปะการังจำเป็นต้องอยู่ในที่ๆมีกระแสน้ำหมุนเวียนดี
เพื่อพัดพาอาหาร
หรือแร่ธาตุมา และพัดพาของเสียต่างๆออกไป แต่ถ้ามีกระแสน้ำที่รุนแรงเกินไปก็
เป็นอันตรายต่อปะการัง
- ธาตุอาหาร ปะการังต้องการแร่ธาตุอาหารในระดับที่เหมาะสม
ซึ่งในทะเลจริงนั้นเต็มไปด้วย
แร่ธาตุมากมายหลายชนิดที่จำเป็น ซึ่งต่างกับในตู้ทะเลของเรา โดยที่ปะการังแต่ละชนิดก็
ต้องการแร่ธาตุต่างชนิดกันออกไป เช่นพวกโครงแข็งก็ต้องการแคลเซียมเป็นหลัก
เป็นต้น
อย่างไรก็ตามหากมีธาตุอาหารมากจนเกินไป สภาพแวดล้อมอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงไป
เช่น เกิดตะไคร่หรือสาหร่ายที่คุกคามแนวปะการัง
เขียนโดย M@my-aquariums